top of page

ประวัติความเป็นมา

          มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีพันธกิจที่สนองต่อปรัชญาของมหาวิทยาลัยในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๔๗   มาตรา ๗ ที่ระบุให้ “มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เสริมพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยาเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน” โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง สอน วิจัย บริการวิชาการแก่สังคมและปรับปรุงถ่ายทอดพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งนี้ ในมาตรา ๘ได้กำหนดแนวการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยกำหนดภาระหนาที่ของมหาวิทยาลัยให้มีหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชนเพื่อช่วยให้คนในท้องถิ่นรูเท่าทันการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน และนักการเมืองท้องถิ่น ให้มีความสามารถในการบริหารงานพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ประสานความร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอื่นเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ศึกษาและแสวงหาแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีพื้นบ้านและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น รวมถึงการศึกษา วิจัย ส่งเสริมและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริในการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

         จากการวิเคราะห์สถานการณ์ ศักยภาพด้านการบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการงานวิจัย พบว่า มหาวิทยาลัยมีระบบและกลไกการบริหารงานวิจัย แต่สภาพปัญหาคือตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของท้องถิ่นได้บางส่วน ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยตามสาขาวิชาที่ผู้วิจัยมีความสนใจ ขาดความร่วมมือจากสหวิทยาการในการแก้ปัญหาสำคัญร่วมกัน ขาดความเชื่อมโยงกับกลไกและนโยบายที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยยังไม่มีส่วนในการกำหนดโจทย์วิจัย การมีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย การมีส่วนร่วมในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เกี่ยวข้อง จึงไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง ทำให้ไม่สามารถใช้งานวิจัยเป็นกลไกเพื่อการพัฒนาและนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นได้เท่าที่ควร การดำเนินงานยังขาดการพัฒนาระบบบริหารจัดการคุณภาพ (Quality Management System) โดยใช้หลักการ  แนวคิด  ทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดกลไกในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องยั่งยืน และมีระบบประกันคุณภาพอย่างเป็นวัฒนธรรมองค์กรโดยความร่วมมือของทุกฝ่าย

          คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เห็นพ้องร่วมกันว่า งานวิจัยที่มีคุณภาพสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เริ่มตั้งแต่การพัฒนาโจทย์วิจัยและข้อเสนอโครงการวิจัยให้ชัดเจน การติดตามสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จ และการเผยแพร่สู่ระบบและกลไกที่สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ และขยายผลได้ จึงได้จัดทำแผนกลยุทธ์การจัดการงานวิจัยและพันธกิจสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น เพื่อให้การบริหารงานวิจัยเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และประเทศชาติ 

วัตถุประสงค์

1. สร้างระบบและกลไกเพื่อมุ่งสู่ความเป็นคณะที่สนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

2.ส่งเสริมให้มีการดำเนินการวิจัยวิทยาศาสตร์และงานวิจัยเชิงการเรียนการสอนตลอดจนการวางแนวทางเกี่ยวกับระบบดูแลลิขสิทธิ์/สิทธิทางปัญญา

3. ส่งเสริมให้มีความร่วมมือทางด้านการวิจัย ระหว่างคณะกับสถาบันการศึกษา/วิจัยทั้งในและต่างประเทศ

4.สนับสนุนให้องค์กรภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอปัญหาวิจัยการดำเนินงานวิจัย และนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้

5. แสวงหาทรัพยากรการวิจัย และส่งเสริมการแสวงหาแหล่งทุนวิจัย เพื่อสนับสนุนการวิจัย

6. กำหนดภาระงานวิจัยที่ชัดเจน เพื่อให้อาจารย์สามารถดำเนินภารกิจในด้านอื่นและด้านการวิจัยได้อย่างสมบูรณ์

7. ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่อย่างครบวงจร ทั้งด้านในการให้ความรู้ในการททำวิจัยการแสวงหาแหล่งทุน การบริการงานวิจัย และการเผยแพร่ผลงานวิจัย ทั้งนี้โดยสร้างกลไกให้นักวิจัยรุ่นใหม่ทำงานร่วมทีมกับกลุ่มวิจัยที่มีศักยภาพ

8.ส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยและเทคโนโลยี ให้สามารถพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงภูมิปัญญาสากลกับภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมทั้งมีการตีพิมพ์ผลงาน/จดสิทธิบัตร และการเผยแพร่ผลงาน ตลอดจนการนำงานวิจัยมาแก้ปัญหาท้องถิ่น

bottom of page